Spaak, Paul-Henri Charles (1899-1972)

นายปอล-อองรี ชาร์ล สปาก (พ.ศ. ๒๔๔๒-๒๕๑๕)

ปอล-อองรี ชาร์ล สปากเป็นรัฐบุรุษและนักการเมืองสังคมนิยมที่มีชื่อเสียงของเบลเยียม เป็นนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลผสมระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๘-๑๙๔๙ รวม ๔ ครั้ง และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหลายครั้งในช่วงทศวรรษ ๑๙๓๐-๑๙๖๐ รวมทั้งเป็นนักยุโรปนิยม (Europeanist) ที่มีบทบาทโดดเด่นในกระบวนการบูรณาการยุโรปในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* ร่วมกับชอง มอนเน (Jean Monnet)* โรแบร์ ชูมอง (Robert Schuman)* คอนราด อาเดเนาร์ (Konrad Adenauer)*

และคนอื่น ๆ สปากมีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งประชาคมถ่านหินและเหด็กกล้ายุโรปหรืออีซีเอสซี (European Coal and steel Community-ECSC)* ใน ค.ศ. ๑๙๕๐ ทั้งยังเป็นประธานคณะกรรมาธิการชัดทำ “รายงานสปาก” (Spaak Report) เพื่อจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจยุโรปหรืออีอีซี (European Economic Community-EEC)* และประชาคมพลังงานปรมาณูยุโรปหรือยูราตอม (European Atomic Energy Community-EURATOM)* ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๕๕-๑๙๕๖ ซึ่งนำไปสู่ความสำเร็จของการลงนามในสนธิสัญญาโรม (Treaties of Rome)* ใน ค.ศ. ๑๙๕๗ รวม ๒ ฉบับที่ถือเป็นพื้นฐานสำคัญของสหภาพยุโรปหรืออียู (European Union-EU)* ในเวลาต่อมา เขาจึงได้รับยกย่องว่าเป็นหนึ่งในบรรดาผู้บุกเบิกการรวมยุโรปในรุ่นแรก

 สปากเกิดในครอบครัวนักการเมืองเมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ค.ศ. ๑๘๙๙ ที่เมืองเชร์บีก (Schaerbeek) เบลเยียม ปอล สปาก (Paul Spaak) บิดาเป็นนักกฎหมายที่มีชื่อเสียงและเป็นนักการเมืองสังคมนิยมที่ได้เป็นสมาชิกรัฐสภาด้วย ส่วนมารี ยานสัน (Marie Janson) มารดาเป็นวุฒิสมาชิกหญิงคนแรกของเบลเยียมและมาจากครอบครัวนักการเมืองที่มีชื่อเสียง ปอล ยานสัน (Paul Janson) บิดาของเธอเป็นนักการเมืองเสรีนิยมและปอล-เอมีล ยานสัน (Paul-Emile Janson) พี่ชายก็เป็นนักการเมืองที่ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๗-๑๙๓๘ สปากจึงมีสายเลือดนักการเมืองเต็มตัวและคุ้นเคยกับ การเมืองมาแต่ยังเด็ก เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* ใน ค.ศ. ๑๙๑๔ สปากมีอายุเพียง ๑๕ ปี แต่เขาต้องการเป็นทหารในกองทัพ ดังนั้น ในการเรียกระดมพลทั่วประเทศ สปากจึงโกหกเรื่องอายุให้มากกว่าความเป็นจริง เขาจึงได้เป็นทหารและถูกส่งไปรบในสมรภูมิด้วยระหว่างสงครามสปากถูกทหารเยอรมันจับเป็นเชลยศึกและถูกนำไปคุมขังในเยอรมนีเป็นเวลา ๒ ปีก่อนได้รับการปล่อยตัว

 หลังสงครามยุติลงในปลาย ค.ศ. ๑๙๑๘ สปากเข้าศึกษาวิชากฎหมายที่มหาวิทยาลัยบรัสเซลส์ ซึ่งต่อมาคือมหาวิทยาลัยเปิดแห่งกรุงบรัสเซลส์ (Free University of Brussels) และใน ค.ศ. ๑๙๒๐ เขาก็เข้าสู่ชีวิตทางการเมืองโดยสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคแรงงานสังคมนิยมเบลเยียม (Socialist Belgian Labour Party-BSP) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายซ้ายที่สำคัญในขณะนั้น ต่อมา เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วเขาประกอบอาชีพทนายความและทำงานทางด้านการเมืองไปพร้อม ๆ กัน แม้ว่าสปากจะมีโอกาสประสบความสำเร็จในอาชีพนักกฎหมายเช่นเดียวกับบิดาแต่เขาก็ต้องการเป็นนักการเมืองมากกว่า ใน ค.ศ. ๑๙๓๒ สปากจึงลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและได้รับเลือกตั้งเป็นครั้งแรก หลังจากนั้นการทำงานทางด้านการเมืองของเขาก็เจริญขึ้นเป็นลำดับ โดยได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการขนส่ง (Ministry of Transport) ในรัฐบาลที่มีปอล ฟาน ซีลันด์ (Paul van Zeeland) เป็นนายกรัฐมนตรีใน ค.ศ. ๑๙๓๕ และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลซีลันด์ ๒ ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๓๖ - พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๓๘ ทำให้เขามีประสบการณ์ในด้านการต่างประเทศมากขึ้น ทั้งยังได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคแรงงานสังคมนิยมเบลเยียมด้วยในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๓๘ พรรคการเมืองของเขาเป็นพรรคที่ได้เสียงข้างมากในการเลือกตั้งทั่วไป สปากจึงได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลผสมและได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาจนถึงวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๓๙ รวมเวลาราว ๑๐ เดือน

 ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๓๙ หลังเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ เล็กน้อย สปากได้กลับเข้ามาร่วมรัฐบาลอีกครั้งโดยได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลผสมที่มีลูแบร์ ปีแยร์โล (Hubert Pierlot) เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมาในวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๐ เมื่อกองทัพนาซีเปิดฉากโจมตีกลุ่มประเทศเบเนลักซ์ (Benelux)* สปากและรัฐมนตรีในรัฐบาลปีแยร์โลทั้งคณะก็ลี้ภัยเข้าไปในฝรั่งเศสด้วยความหวังว่าจะสามารถรักษาเอกราชของเบลเยียมไว้ได้ อย่างไรดี ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๐ หลังกองทัพนาซียึดครองฝรั่งเศสได้แล้ว สปากพร้อมทั้งรัฐมนตรีอีกหลายคนพยายามเดินทางกลับประเทศแต่ไม่ได้รับอนุญาตจากกองทัพนาซี แม้เขาจะอ้างว่าเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเบลเยียมก็ตามสปากจึงต้องลี้ภัยไปอยู่ในอังกฤษเนื่องจากเบลเยียมตกเป็นเขตยึดครองของกองทัพนาซีเช่นเดียวกับฝรั่งเศส หลังจากนั้นเขาได้ร่วมมือกับนักการเมืองชาวเบลเยียมคนอื่น ๆ ที่ลี้ภัยอยู่ในอังกฤษจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นเบลเยียมขึ้นที่กรุงลอนดอนเมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๐ โดยมีปีแยร์โลเป็นนายกรัฐมนตรีและสปากยังคงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของรัฐบาลชุดนี้ต่อไป

 สปากเป็นนักยุโรปนิยมในกลุ่มสหพันธ์นิยม (federalism) มาตั้งแต่ก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ระหว่างที่ลี้ภัยอยู่ในอังกฤษนอกจากจะเดินทางไปยังประเทศต่าง ๆ ทั้งในยุโรปและอเมริกาเหนือเพื่อทำงานให้การสนับสนุนแก่ฝ่ายพันธมิตรแล้ว เขายังเดินทางไปร่วมประชุมอย่างลับ ๆ กับสมาชิกขบวนการต่อต้านนาซีและนักยุโรปนิยมของประเทศต่าง ๆ บนภาคพื้นทวีปยุโรปหลายครั้ง เพื่อวางแผนสำหรับการรวมยุโรปในช่วงหลังสงครามซึ่งคนเหล่านี้เรียกยุโรปที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ว่า “สหรัฐแห่งยุโรป” (United States of Europe) หรือ “สหพันธ์ยุโรป” (European Federal Union) ใน ค.ศ. ๑๙๔๔ สปากในฐานะผู้แทนรัฐบาลพลัดถิ่นเบลเยียมยังเป็นกำลังสำคัญร่วมกับรัฐบาลพลัดถิ่นเนเธอร์แลนด์และลักเซมเบิร์กซึ่งตั้งอยู่ในกรุงลอนดอนจัดการประชุมเพื่อจัดทำสนธิสัญญาก่อตั้งสหภาพศุลกากรของกลุ่มประเทศเบเนลักซ์ (Benelux Customs Union) ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะให้สหภาพดังกล่าวเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศทั้งสามร่วมกันในช่วงหลังสงคราม สนธิสัญญาดังกล่าวได้รับการลงนามในปีเดียวกันและมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๑ มกราคม ค.ศ. ๑๙๔๘ สหภาพศุลกากรเบเนลักซ์จึงเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการและมีการใช้คำว่ากลุ่มประเทศเบเนลักซ์ซึ่งหมายถึงเบลเยียมเนเธอร์แลนด์ และลักเซมเบิร์ก มาตั้งแต่บัดนั้น การจัดตั้งสหภาพดังกล่าวถือเป็นการฟื้นฟูและสานต่อการดำเนินงานของสหภาพเศรษฐกิจระหว่างเบลเยียมกับลักเซมเบิร์กหรือบีแอลอียู (Belgo-Luxem bourg Economic Union-BLEU) ที่จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๒๑ และล้มเลิกไปแล้วในช่วงทศวรรษ ๑๙๓๐ ทั้งยังเป็นการนำร่องการบูรณาการเศรษฐกิจยุโรปในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ด้วย

 หลังการยกพลขึ้นบกที่นอร์มองดี (Normandy) ของฝ่ายพันธมิตรเพื่อปลดปล่อยฝรั่งเศสในวันดี-เดย์ (D-Day)* เมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๔ สปากและคณะรัฐบาลพลัดถิ่นก็เดินทางกลับประเทศในวันที่ ๘ กันยายน ค.ศ. ๑๙๔๔ โดยที่เขายังคงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลปีแยร์โลสืบต่อมาจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๔๕ เมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไปและมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่แล้วสปากก็ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลผสมชุดต่าง ๆ เป็นส่วนใหญ่ สลับกับการเป็นนายกรัฐมนตรีอีก ๓ ครั้ง คือ ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๔๕ - มกราคม ค.ศ. ๑๙๔๖ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลผสมที่มีอาชิลล์ ฟาน อัคเคอร์ (Achille van Acker) เป็นนายกรัฐมนตรี ๒ ครั้ง ระหว่างวันที่ ๑๓-๓๑ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๔๖ เป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลที่มีอายุสั้นที่สุดของเบลเยียมในช่วงหลังสงคราม ระหว่างเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๔๖ - สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๖ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลอัคเคอร์สมัยที่ ๓ ระหว่างเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๖ - มีนาคม ค.ศ. ๑๙๔๗ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของรัฐบาลผสมที่มีกามิลล์ อุยสมันส์ (Camille Huysmans) เป็นนายกรัฐมนตรีระหว่างเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๔๗ - สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๙ เป็นนายกรัฐมนตรีอีก ๒ ครั้ง พร้อมทั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในเวลาเดียวกันด้วย ตั้งแต่ช่วงปลาย ค.ศ. ๑๙๔๙-๑๙๕๓ สปากดำรงตำแหน่งในองค์การระหว่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ และระหว่างเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๕๔ - มีนาคม ค.ศ. ๑๙๖๖ เขากลับมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลผสมชุดต่าง ๆ อีก ๔ รัฐบาลโดยเว้นช่วงบ้างในบางระยะ ในช่วงปลายทศวรรษ ๑๙๔๐ สปากยังเป็นผู้หนึ่งที่ต่อต้านการเสด็จกลับประเทศของพระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๓ (Leopold III)* แห่งเบลเยียม ซึ่งต้องเสด็จลี้ภัยไปประทับอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์เป็นเวลาหลายปี เนื่องจากถูกรัฐบาลตั้งข้อหาทรยศต่อชาติที่ยอมอ่อนข้อต่อนาซี อย่างไรก็ดี ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๕๐ พระองค์ก็เสด็จกลับเบลเยียมได้หลังการแสดงประชามติยอมรับการเสด็จกลับของพระองค์ในปีเดียวกัน

 ในด้านการต่างประเทศ สปากมีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับในวงการเมืองระหว่างประเทศมาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๔๕ เขาได้รับแต่งตั้งเป็นผู้แทนเบลเยียมเข้าร่วมประชุมเพื่อก่อตั้งองค์การสหประชาชาติ (United Nations)* ที่นครแซนแฟรนซิสโก (San Francisco) สหรัฐอเมริกาและได้ร่วมลงนามในกฎบัตรสหประชาชาติ (United Nations Charter) ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ ด้วย ต่อมาเขายังได้รับเลือกเป็นประธานคนแรกของสมัชชาใหญ่ (General Assembly) แห่งองค์การสหประชาชาติซึ่งเขาดำรงตำแหน่งมาจนถึง ค.ศ. ๑๙๔๗ ในการประชุมสมัชชาใหญ่แทบทุกครั้งสปากมักมีบทบาทสำคัญและสร้างความสนใจให้แก่ผู้เข้าร่วมประชุมเสมอ เช่น ในการประชุมครั้งที่ ๓ ที่กรุงปารีสสปากได้แสดงวาทะโดยกล่าวนำกับผู้แทนสหภาพโซเวียตด้วยข้อความที่มีชื่อเสียงซึ่งเป็นที่กล่าวขวัญกันอย่างมากในบรรดาผู้เข้าร่วมประชุมครั้งนั้นว่า “ท่านครับ เรากลัวพวกท่านจังเลย” (Sirs, we are afraid of you.) ใน ค.ศ. ๑๙๔๗ สปากยังมีบทบาทสำคัญในการเจรจากับสหรัฐอเมริการ่วม กับผู้แทนประเทศยุโรปตะวันตกอื่น ๆ เพื่อขอรับความช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจการเงินภายใต้แผนมาร์แชลล์ (Marshall Plan)* ให้แก่เบลเยียม และระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๘-๑๙๔๙ เขาก็ได้รับเลือกเป็นประธานคนแรกของคณะมนตรีขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจยุโรปหรือโออีอีซี (Organization for European Economic Cooperation-OEEC)* ที่จัดตั้งขึ้นในกรุงปารีสเมื่อ ค.ศ. ๑๙๔๘ เพื่อทำหน้าที่บริหารการใช้เงินภายใต้แผนดังกล่าว

 ในช่วงหลังสงครามสปากเป็นผู้หนึ่งที่สนับสนุนกระบวนการบูรณาการยุโรปอย่างแข็งขันมาแต่ต้น ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๘ เขาร่วมมือกับเซอร์วินสตัน เชอร์ชิลล์ (Winston Churchill)* รัฐบุรุษที่มีชื่อเสียงของอังกฤษ โรแบร์ ชูมองแห่งฝรั่งเศส และอัลชีเด เด กัสเปรี (Alcide de Gasperi)* แห่งอิตาลี รวมทั้งนักยุโรปนิยมคนอื่น ๆ และผู้ที่เคยเป็นแกนนำในขบวนการต่อต้านนาซีในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ จัดให้มีการประชุมใหญ่ที่กรุงเฮก (The Hague Congress) เนเธอร์แลนด์ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญที่จะให้การประชุมครั้งนี้พิจารณาเรื่องการรวมยุโรปตามแนวทางของระบบสหพันธ์ขึ้น แต่การประชุมก็ไม่บรรลุผลตามที่สปากและบรรดานักยุโรปนิยมต้องการ เพราะที่ประชุมมีความเห็นแตกแยกกันในขณะที่บางประเทศก็ยังไม่พร้อมที่จะให้องค์การเหนือรัฐเกิดขึ้น อย่างไรก็ดี ที่ประชุมได้ตกลงให้เปลี่ยนสถานะของคณะกรรมการนานาชาติเพื่อเอกภาพของยุโรป (International Committee for European Unity) ที่เป็นกำลังสำคัญในการจัดประชุมครั้งนี้เป็นองค์การเพื่อขบวนการยุโรป (European Movement) เพื่อเป็นแกนนำในการดำเนินงานด้านการรวมยุโรปต่อไป เมื่อองค์การดังกล่าวได้รับการจัดตั้งขึ้นที่กรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๘ สปากก็ได้เป็นประธานร่วมกับเชอร์ชิลล์ เลอง บลูม (Léon Blum)* นักการเมืองสังคมนิยมชาวฝรั่งเศสและเด กัสเปรี ในที่สุดในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๙ ก็ได้มีการจัดตั้งสภาแห่งยุโรป (Council of Europe) ขึ้นโดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองสตราสบูร์กฝรั่งเศส แม้ว่าสภาดังกล่าวจะเป็นผลโดยตรงของการประชุมที่กรุงเฮกแต่ก็ไม่ได้เป็นองค์การเหนือรัฐ กลับมีสถานะเป็นเพียงองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศ สปากจึงผิดหวังมาก แต่เขาก็ยังให้ความร่วมมืออย่างแข็งขันเพื่อให้สภาแห่งยุโรปดำเนินงานไปได้อย่างราบรื่น และในปีเดียวกันสปากก็ได้รับเลือกเป็นประธานคนแรกของสมัชชาที่ปรึกษา (Consultative Assembly) ขององค์การนี้ เขาดำรงตำแหน่งมาจนถึงเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๕๑ โดยพยายามทำให้สภาแห่งยุโรปขับเคลื่อนไปสู่การรวมยุโรปตามที่บรรดานักสหพันธ์นิยมมุ่งหวังไว้ในขณะเดียวกันด้วย

 ใน ค.ศ. ๑๙๕๐ หลังชูมองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสประกาศแผนชูมอง (Schuman Plan)* เพื่อจัดตั้งประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้ายุโรปเมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคมเพียงไม่กี่วันสปากก็เป็นผู้นำเบลเยียมเข้าร่วมในแผนนี้ เพราะเห็นว่าการรวมกลุ่มกับเพื่อนบ้านในยุโรปตะวันตกในวงกว้างกว่าสหภาพศุลกากรของกลุ่มประเทศเบเนลักซ์จะทำให้เบลเยียมได้รับประโยชน์อย่างมากทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมือง โดยเฉพาะในด้านการป้องกันประเทศ สปากเชื่อว่าการนำสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีหรือเยอรมนีตะวันตกเข้ามาร่วมในกิจกรรมของยุโรปจะเป็นการคํ้าประกันความปลอดภัยของยุโรปตะวันตกได้ดีวิธีหนึ่ง อีกทั้งการจัดตั้งประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้ายุโรปยังจะช่วยให้เบลเยียมพัฒนาอุตสาหกรรมถ่านหินของตนได้เร็วขึ้นด้วย นอกจากนี้ เขายังสนับสนุนความร่วมมือของอังกฤษในการรวมยุโรปเป็นอย่างมาก เพราะเชื่อว่าการจัดตั้งประชาคมดังกล่าวคงไม่อาจเกิดขึ้นได้หากอังกฤษไม่เข้าร่วมด้วย ทั้งยังต้องการให้อังกฤษเข้ามาคานอำนาจชองฝรั่งเศสกับเยอรมนีตะวันตกที่อาจมีมากขึ้นภายหลังการรวมยุโรปเป็นผลสำเร็จ ฉะนั้น เมื่ออังกฤษปฏิเสธคำเชิญชวนของฝรั่งเศสเขาจึงผิดหวังมากและประท้วงท่าทีชองอังกฤษด้วยการลาออกจากตำแหน่งประธานสภาที่ปรึกษาของสภาแห่งยุโรปในปลาย ค.ศ. ๑๙๕๑ เพื่อหันมามุ่งเน้นการทำงานให้แก่การจัดตั้งประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้ายุโรปเพียงอย่างเดียว

 ในระหว่างการประชุมเจรจาของประเทศทั้งหก (ได้แก่ ฝรั่งเศส เยอรมนีตะวันตก อิตาลี เบลเยียม เนอร์เธอร์แลนด์ และลักเซมเบิร์ก) ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๕๐ แม้ว่าสปากมักจะสนับสนุนนโยบายของฝรั่งเศสและเยอรมนีตะวันตก รวมทั้งเป็นมิตรสนิทของมอนเนผู้ยกร่างแผนชูมองก็ตาม แต่เขาก็ให้ความร่วมมือกับเพื่อนบ้านในกลุ่มเบเนลักซ์และอิตาลีอย่างแข็งขันในการต่อสู้เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศภาคีสมาชิกเล็ก ๆ มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแต่งตั้งคณะมนตรี (Council of Ministers) ที่เนเธอร์แลนด์และเบลเยียมเป็นผู้เสนอให้จัดตั้งขึ้นเพื่อคานและจำกัดอำนาจของคณะกรรมาธิการ (High Authority) ที่เชื่อกันว่าจะเป็นกลไกในการใช้อำนาจของภาคีสมาชิกที่เป็นประเทศใหญ่อย่างเช่นฝรั่งเศสและเยอรมนีตะวันตก หรือวิธีการออกเสียงในกระบวนการตัดสินใจของอีซีเอสซีก็ตาม ทั้งยังมักทำหน้าที่ประนีประนอมเพื่อให้สมาชิกทุกประเทศประสานประโยชน์กันได้อย่างเหมาะสม สปากจึงเป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญที่ทำให้สนธิสัญญาจัดตั้งอีซีเอสซีเกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ ภายในประเทศสปากยังต้องทำงานหนักในการต่อสู้กับฝ่ายการเมืองและแวดวงเศรษฐกิจรวมทั้งฝ่ายค้านที่ไม่เห็นด้วยกับการเข้าร่วมในอีซีเอสซีของเบลเยียม โดยพยายามให้ความมั่นใจว่าเบลเยียมจะได้ประโยชน์อย่างแน่นอน จนในที่สุดสนธิสัญญาปารีส (Treaty of Paris) ค.ศ. ๑๙๕๑ เพื่อจัดตั้งประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้ายุโรปก็ผ่านการให้สัตยาบันในเบลเยียมอย่างราบรื่น ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๕๒ หลังการสถาปนาประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้ายุโรปอย่างเป็นทางการแล้ว สปากยังได้รับเลือกเป็นประธานคนแรกของสมัชชาร่วม (Common Assembly) ขององค์การนี้ซึ่งทำหน้าที่เสมือนรัฐสภายุโรป (European Parliament) มาจนถึง ค.ศ. ๑๙๕๓

 ในระยะเดียวกันสปากยังสนับสนุนการจัดตั้งกองทัพร่วมยุโรปหรือประชาคมเพื่อการป้องกันยุโรปหรืออีดีซี (European Defence Community-EDC)* ที่ฝรั่งเศสเป็นผู้เสนอให้จัดตั้งขึ้นตั้งแต่เดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๕๐ อย่างแข็งขัน และมีส่วนผลักดันให้เบลเยียมเข้าร่วมในองค์การนี่พร้อมกับชาติสมาชิกอีซีเอสซีอื่น ๆ อีก ๕ ประเทศ นอกจากนี้ ในระหว่างการประชุมจัดทำสนธิสัญญาอีดีซีเขายังสนับสนุนข้อเสนอของเด กัสเปรี นายกรัฐมนตรีอิตาลีที่ให้มีการจัดตั้งประชาคมการเมืองยุโรปหรืออีพีซี (European Political Community-EPC) ขึ้นพร้อม ๆ กับอีดีซีเพื่อให้ทำหน้าที่เป็นผู้กำหนดนโยบายทางการเมืองของอีซีเอสซีและอีดีซีโดยกำหนดไว้ในมาตรา ๓๘ ของสนธิสัญญา จัดตั้งอีดีซี ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๕๒ ประเทศสมาชิกอีซีเอสซีทั้ง ๖ ประเทศก็มีมติแต่งตั้งสปากเป็นประธานสภาเฉพาะกาลที่ทำหน้าที่ยกร่างสนธิสัญญาจัดตั้งประชาคมการเมืองยุโรปขึ้น สนธิสัญญาดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยและผ่านความเห็นชอบของที่ประชุมผู้นำชาติสมาชิกทั้งหกในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๕๓ อย่างไรก็ดี ทั้งอีพีซีและอีดีซีก็ไม่เกิดขึ้นเนื่องจากสนธิสัญญาปารีส (Treaty of Paris) ฉบับ ค.ศ. ๑๙๕๒ เพื่อจัดตั้งประชาคมเพื่อการป้องกันยุโรปไม่ผ่านการให้สัตยาบันในรัฐสภาฝรั่งเศสเมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๕๔

 ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๕๕ สปากได้ร่วมมือกับมอนเนหาทางออกให้กับการบูรณาการยุโรปต่อไป โดยหันไปขยายการบูรณาการทางเศรษฐกิจแทนการบูรณาการทางการเมืองด้วยการจัดทำแผนจัดตั้งประชาคมพลังงานปรมาณูยุโรปหรือยูราตอมขึ้น เพื่อใช้ประโยชน์ในทางสันติโดยจะให้เป็นองค์การบูรณาการเฉพาะภาคส่วน (sectoral integration) เช่นเดียวกับอีซีเอสซี แต่วิลเลม เบเยิน (Willem Beyen) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเนเธอร์แลนด์ต้องการให้มีการขยายการบูรณาการเศรษฐกิจ ของอีซีเอสซีออกไปให้ครอบคลุมเศรษฐกิจทุกภาคส่วนในลักษณะประชาคมเศรษฐกิจยุโรปหรือตลาดร่วมยุโรป (European Common Market) มากกว่า เขาจึงเสนอแผนเบเยิน (Beyen Plan) เพื่อจัดตั้งตลาดร่วมดังกล่าวต่อประเทศสมาชิกอีซีเอสซีในช่วงเดียวกัน สปากเห็นเป็นโอกาสที่จะทำให้การบูรณาการยุโรปในขั้นต่อไปประสบความสำเร็จ ในกลางเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๕๕ เขาจึงเดินทางไปพบนายกรัฐมนตรีวิลเลม เดรสส์ (Willem Dress) แห่งเนเธอร์แลนด์ และโจเซฟ เบค (Joseph Bech) แห่งลักเซมเบิร์ก เพื่อติดต่อประสานงานให้ประเทศทั้งสองเข้ามาร่วมงานด้วยจนในที่สุดทั้งเนเธอร์แลนด์และลักเซมเบิร์กก็ยอมให้ผนวกแผนเบเยินเข้ากับแผนของมอนเนและสปากเป็นข้อเสนอชุดเดียวกัน ในชื่อ “ข้อเสนอของกลุ่มประเทศเบเนลักซ์” (Benelux Initiative) หรือ “บันทึกความจำเบเนลักซ์” (Benelux Memorandum) และส่งไปให้รัฐบาลประเทศสมาชิกทั้งหกของอีซีเอสซีพิจารณาในเดือนเดียวกัน

 ต่อมาในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๕๕ หลังข้อเสนอชุดนี้ได้รับการตีพิมพ์เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชนอย่างเป็นทางการแล้ว สปากยังเป็นกำลังสำคัญที่ผลักดันให้บรรจุข้อเสนอดังกล่าวเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมที่เมืองเมสซีนา (Messina Conference)* ซึ่งกำหนดให้มีขึ้นระหว่างวันที่ ๑-๒ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๕๕ ได้เป็นผลสำเร็จ ระหว่างการประชุมสปากยังทำหน้าที่เป็นคนกลางไกล่เกลี่ยความขัดแย้งอันรุนแรงระหว่างผู้แทนของชาติสมาชิกให้ยุติลงได้ เนื่องจาก ฝรั่งเศสสนับสนุนการจัดตั้งยูราตอมมากกว่าตลาดร่วมยุโรป เพราะกลัวว่าจะเสียเปรียบเยอรมนีในด้านการค้าและอุตสาหกรรม ทั้งยังต้องการเข้าไปควบคุมแหล่งพลังงานนิวเคลียร์ของยุโรปเพื่อนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ทั้งในด้านพลเรือนและการทหาร โดยยํ้าว่าจะใช้ในทางสันติของส่วนรวมเท่านั้น ส่วนเยอรมนีสนับสนุนการจัดตั้งตลาดร่วมมากกว่ายูราตอมเพราะจะได้ประโยชน์แก่อุตสาหกรรมและการค้าเสรีของตนเป็นอย่างมาก ในขณะที่กลุ่มประเทศเบเนลักซ์ไม่ต้องการให้ข้อเสนอเพื่อจัดตั้งอีอีซีของตนประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับอีดีซี ตลอดเวลา ๒ วันเต็มสปากได้ใช้ความพยายามและทักษะในทางการทูตทั้งในและนอกรอบการประชุมติดต่อประสานงานเพื่อให้บรรดาผู้แทนของประเทศต่าง ๆ สามารถประสานประโยชน์และความต้องการของตนได้อย่างลงตัว จนในที่สุดผู้แทนประเทศเหล่านั้นก็ลงมติให้ออกปฏิญญาเมสซีนา (Messina Declaration) เพื่อจัดตั้งอีอีซีและยูราตอมขึ้น และมีมติให้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลขึ้นคณะหนึ่ง โดยมีสปากเป็นประธานเพื่อให้ทำหน้าที่ศึกษาความเป็นไปได้และจัดทำรายละเอียดของการจัดตั้งประชาคมทั้งสองเพื่อเสนอต่อที่ประชุมระหว่างรัฐบาลชาติสมาชิกต่อไป

 คณะกรรมาธิการสปาก (Spaak Committee) ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนชาติสมาชิกอีซีเอสซีทั้ง ๖ ประเทศ เปิดประชุมครั้งแรกที่กรุงบรัสเซล์ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๕๕ ต่อจากนั้นก็มีการประชุมเจรจาระหว่างผู้แทนประเทศต่าง ๆ เกิดขึ้นที่กรุงบรัสเซลส์เป็นส่วนใหญ่ แม้ว่าการเจรจาดังกล่าวจะถูกเรียกอย่างเป็นทางการว่าการเจรจาเมสซีนา (Messina Negotiations) ก็ตาม ในฐานะประธานของการประชุม สปากได้ใช้ความสามารถส่วนตัวทั้งในด้านการเร่งดำเนินงานและการจัดการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ตลอดจนทำหน้าที่เป็นคนกลางในการเจรจาประนีประนอมระหว่างผู้แทนรัฐบาลชาติสมาชิกอย่างแข็งขัน เขาต้องทำงานหนักด้วยความอดทนในการแก้ไขปัญหาและหาทางออกให้กับข้อเรียกร้องของเยอรมนีตะวันตกและฝรั่งเศสชาติสมาชิกหลักของอีซีเอสซีซึ่งต่างก็ตั้งเงื่อนไขเพื่อให้การจัดตั้งประชาคมทั้งสองเป็นไปตามที่ตนต้องการจนในที่สุดการจัดทำรายงานที่เรียกว่า “รายงานสปาก” ก็เสร็จสิ้นลงในเดือนมีนาคมและได้รับการตีพิมพ์ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๕๖ รายงานสปากประกอบด้วยเนื้อหาหลัก ๒ ส่วน ส่วนแรกซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุดและมีความยาว ๘๔ หน้า เป็นรายละเอียดและโครงสร้างของประชาคมเศรษฐกิจยุโรป ในส่วนนื้สปากได้เปลี่ยนคำว่า “การสร้างยุโรป” (European construction) ในปฏิญญาเมสซีนาเป็น “การบูรณาการยุโรป” (European integration) เพื่อให้สื่อความหมายว่า อีอีซีจะมีโครงสร้างที่เป็นองค์การเหนือรัฐ ส่วนที่ ๒ ซึ่งมีความยาว ๒๔ หน้า เป็นรายละเอียดการจัดตั้งประชาคมพลังงานปรมาณูยุโรป สปากได้เสนอรายงานฉบับนี้ต่อที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่เมืองเวนิส อิตาลี ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๕๖ ซึ่งก็ได้ผ่านมดีรับรองด้วยดี

 ในช่วงกลาง ค.ศ. ๑๙๕๖ ชาติสมาชิกทั้งหกก็ได้เปิดการประชุมระหว่างรัฐบาลขึ้นที่ปราสาทวาลดูแชส (Val Duchesse) ชานกรุงบรัสเซลส์ เพื่อทำการยกร่างสนธิสัญญาจัดตั้งประชาคมทั้งสองขึ้นโดยใช้รายงานสปากเป็นพื้นฐานของการเจรจา ในฐานะที่เบลเยียมเป็นประเทศเจ้าภาพ สปากจึงได้เป็นประธานของการประชุมอีกครั้งซึ่งเขาก็ได้ทำหน้าที่เป็นอย่างดีโดยได้รับความร่วมมืออย่างแข็งขันจากผู้แทนชาติสมาชิกทุกประเทศจนการยกร่างสนธิสัญญา ๒ ฉบับเสร็จสิ้นลงในต้น ค.ศ. ๑๙๕๗ สนธิสัญญาฉบับแรกเป็นสนธิสัญญาว่าด้วยการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (Treaty Establishing the European Economic Community) และฉบับที่ ๒ เป็นสนธิสัญญาว่าด้วยการจัดตั้งประชาคมพลังงานปรมาณูยุโรป (Treaty Establishing the European Atomic Energy Community) สนธิสัญญาทั้ง ๒ ฉบับได้รับการลงนามพร้อมกันที่กรุงโรม อิตาลีเมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๕๗ สนธิสัญญาดังกล่าวจึงเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในนามสนธิสัญญาโรมในการลงนามในสนธิสัญญาเหล่านี้สปากก็เป็นผู้หนึ่งที่ได้ลงนามในฐานะผู้แทนของรัฐบาลเบลเยียมซึ่งถือเป็นหนึ่งในบรรดาสมาชิกผู้ก่อตั้งทั้งหกของประชาคมยุโรปหรืออีซี (European Community-EC)* และสหภาพยุโรป นอกจากนี้ การที่สปากได้เป็นประธานของการประชุมเพื่อจัดตั้งประชาคมยุโรปถึง ๒ ครั้ง ก็ทำให้การลงมติเลือกกรุงบรัสเซลส์เป็นสถานที่ตั้งของคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ของอีอีซีหลังสนธิสัญญาโรมมีผลบังคับใช้ใน ค.ศ. ๑๙๕๘ ผ่านไปได้อย่างไม่มีอุปสรรค

 สปากยังได้ชื่อว่าเป็นนักแอตแลนติกนิยม (Atlan-ticist) คนสำคัญของยุโรปที่สนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศต่าง ๆ บน ๒ ฟากฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกมาโดยตลอด ใน ค.ศ. ๑๙๔๘ เขาสนับสนุนการเข้าเป็นภาคีสมาชิกของเบลเยียมในองค์การสนธิสัญญาบรัสเซลส์ หรือบีทีโอ (Brussels Treaty Organization-BTO)* ร่วมกับเนเธอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก ฝรั่งเศส และอังกฤษ ใน ค.ศ. ๑๙๔๙ สปากยังได้รับแต่งตั้งเป็นผู้แทนเบลเยียมเข้าร่วมเจรจากับสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่น ๆ อีก ๑๐ ประเทศ ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา เพื่อจัดตั้งองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต (North Atlantic Treaty Organization-NATO)* และได้ลงนามในสนธิสัญญาวอชิงตัน (Treaty of Washington) ร่วมกับประเทศเหล่านี้ในนามรัฐบาลเบลเยียมด้วย สปากมีความเห็นว่าระบบพันธมิตรทางทหารอย่างเช่นองค์การทั้งสองจะเป็นเครื่องคํ้าประกันความมั่นคงปลอดภัยของเบลเยียมซึ่งเป็นประเทศเล็กและล้อมรอบด้วยมหาอำนาจที่ใหญ่กว่าได้เป็นอย่างดี ด้วยเหตุนั้น ใน ค.ศ. ๑๙๕๔ เมื่ออีดีซีล้มเหลวเขาจึงผิดหวังมากและใน ค.ศ. ๑๙๕๕ เขาก็สนับสนุนการจัดตั้งองค์การสหภาพยุโรปตะวันตกหรือดับเบิลยูอียู (Western European Union-WEU)* ซึ่งขยายตัวมาจากบีทีโออย่างแข็งขันโดยหวังว่าองค์การดังกล่าวจะมีบทบาทในการป้องกันยุโรปอีกทางหนึ่ง ในขณะเดียวกันเขาก็ให้ความร่วมมือกับนาโตอย่างเต็มที่ ใน ค.ศ. ๑๙๕๖ สปากได้รับเลือกจากคณะมนตรีนาโตให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการขององค์การระหว่าง ค.ศ. ๑๙๕๗-๑๙๖๑ สืบต่อจากลอร์ดอิสเมย์ (Lord Ismay) แห่งอังกฤษ

 ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๖๑ หลังพ้นจากตำแหน่งเลขาธิการองค์การนาโตแล้ว สปากก็กลับเข้ารับตำแหน่งทางการเมืองในเบลเยียมอีกครั้งโดยได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศใน ๒ รัฐบาลติดต่อกันจนถึงเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๖๖ ทำให้เขายังคงมีโอกาสทำงานและมีบทบาทในวงการเมืองระหว่างประเทศมาโดยตลอดในฐานะผู้แทนรัฐบาลเบลเยียม ในช่วงปลาย ค.ศ. ๑๙๖๕ - ต้น ค.ศ. ๑๙๖๖ เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ที่นั่งว่าง (Empty Chair Crisis) ขึ้นภายในคณะมนตรีแห่งประชาคมยุโรปอันเป็นผลมาจากการที่ประธานาธิบดีชาร์ล เดอ โกล (Charles de Gaulle)* แห่งฝรั่งเศสประท้วงข้อเสนอให้มีการปฏิรูปทางสถาบันและกระบวนการตัดสินใจของอีอีซีของวัลเทอร์ ฮัลชไตน์ (Walter Hallstein)* ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๖๕ สปากก็ได้ร่วมมือกับนายกรัฐมนตรีลักเซมเบิร์ก ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานประชาคมยุโรปในช่วง ๖ เดือนแรกของ ค.ศ. ๑๙๖๖ แสวงหาหนทางให้ฝรั่งเศสกลับเข้ามาร่วมงานกับชาติสมาชิกอื่นโดยวิธีการประนีประนอมระหว่างกัน สปากเป็นหัวแรงสำคัญที่จัดให้มีการประชุมระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของชาติสมาชิกอีอีซีหลายครั้ง โดยที่ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปไม่ต้องเข้าร่วมประชุมด้วยเพื่อหาทางแก้ปัญหา ทั้งยังเป็นผู้ร่างความตกลงที่เรียกว่า การประนีประนอมแห่งลักเซมเบิร์ก (Luxembourg Compromise)* ซึ่งชาติสมาชิกทั้งหกชองอีอีซียินยอมลงนามร่วมกันในปลายเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๖๖ ทำให้วิกฤตการณ์ยุติลงได้โดยไม่ต้องมีการแก้ไขสนธิสัญญาจัดตั้งประชาคมยุโรป ซึ่งต้องผ่านกระบวนการและขั้นตอนมากมายทั้งยังใช้เวลานาน นอกจากนี้ สปากยังมีส่วนช่วยองค์การนาโตเลือกกรุงบรัสเซลส์และเมืองบางเมืองในเบลเยียมเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่และหน่วยงานต่าง ๆ ของนาโตหลังย้ายออกมาจากฝรั่งเศสในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๖๖ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากความขัดแย้งระหว่างเดอโกลกับสหรัฐอเมริกาในทศวรรษ ๑๙๖๐ ในเรื่องที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในนาโต ทำให้กรุงบรัสเซลส์ได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางของนาโตเท่า ๆ กับสหภาพยุโรป

 สปากพันจากตำแหน่งทางการเมืองทุกตำแหน่งใน ค.ศ. ๑๙๖๖ และหันมาใช้ชีวิตในการเขียนหนังสือและบันทึกความจำ ใน ค.ศ. ๑๙๖๙ เขาจัดพิมพ์หนังสือชุดบันทึกความจำ ๒ เล่มจบในชื่อภาษาฝรั่งเศสว่า Combats inachevés ซึ่งให้ความรู้เกี่ยวกับชีวิตและการต่อสู้ทางการเมืองของเขารวมทั้งประวัติศาสตร์การรวมยุโรปอย่างน่าสนใจยิ่ง ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๗๑ เฮนรี ฟอกซ์ (Henry Fox) ได้แปลหนังสือเรื่องนี้ออกเป็นภาษาอังกฤษในชื่อ The Continuing Battle: Memoirs of a European, 1936-1966 และตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ไวเดนเฟลด์ (Weidenfeld) ที่กรุงลอนดอนสปากยังได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติและได้รับรางวัลเกียรติยศมากมาย อาทิ ใน ค.ศ. ๑๙๕๗ เขาได้รับรางวัลคาร์ล (Karlpreis) หรือรางวัลชาร์เลอมาญ (Charlemagne Award) จากนครอาร์เคิน (Aarchen) ของเยอรมนีในฐานะบุคคลที่ได้ทำคุณประโยชน์ในด้านการรวมยุโรปและการสร้างสันติภาพให้แก่ยุโรป นอกจากนี้ เขายังได้เป็นสมาชิกของราชบัณฑิตยสถานแห่งเบลเยียมในสาขาภาษาฝรั่งเศสและวรรณคดี รวมทั้งเป็นสมาชิกของสมาคมและสถาบันทางการทูตและวิชาการอีกหลายแห่ง

 ในด้านชีวิตส่วนตัว สปากสมรสครั้งแรกกับมาร์เกอริต มาเลอเว (Marguerite Malevez) ทั้งสองมีบุตรสาว ๒ คนและบุตรชาย ๑ คน อองตัวแนต สปาก (Antoinette Spaak) บุตรสาวคนหนึ่งของเขาเป็นนักการเมืองเจริญรอยตามบิดาและเป็นหัวหน้าพรรคแนวร่วมฟรองโกโฟนประชาธิปไตย (Democratic Front of Francophones) ในเบลเยียม ส่วนแฟร์นอง สปาก (Fernand Spaak) บุตรชายเป็นนักการทูต หลังภรรยาคนแรกเสียชีวิตในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๖๔ สปากได้สมรสใหม่กับซีโมน เดียร์ (Semone Dear) ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๖๕

 ปอล-อองรี ชาร์ล สปากถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๗๒ ที่บ้านพักในเมืองเบรน-ลาลลู (Braine-l’ Alleud) ใกล้กรุงบรัสเซลส์ ขณะมีอายุ ๗๓ ปี รัฐบาลจัดพิธีไว้อาลัยให้แก่เขาอย่างสมเกียรติ ทั้งยังยกย่องเชิดชูเกียรติเขาในโอกาสต่าง ๆ ในฐานะรัฐบุรุษคนสำคัญที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศและมนุษยชาติมาโดยตลอดใน ค.ศ. ๒๐๐๒ รัฐบาลเบลเยียมสร้างเหรียญทองที่ระลึกรูปใบหน้าของสปากร่วมกับใบหน้าของโรแบร์ ชูมอง และคอนราด อาเดเนาร์ ซึ่งถือเป็นบุคคลสำคัญผู้มีส่วนร่วมก่อตั้งสหภาพยุโรปเพื่อเฉลิมฉลองวาระที่สนธิสัญญาปารีสเพื่อจัดตั้งประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้ายุโรปมีอายุครบ ๕๐ ปี นับเป็นเกียรติยศสูงสุดที่รัฐบาลเบลเยียมให้แก่ปอล-อองรี ชาร์ล สปาก นอกจากนี้ ชื่อของเขายังได้รับเกียรติเป็นชื่อมูลนิธิและสถาบันทางด้านการศึกษาของสหภาพยุโรปอีกหลายแห่ง.



คำตั้ง
Spaak, Paul-Henri Charles
คำเทียบ
นายปอล-อองรี ชาร์ล สปาก
คำสำคัญ
- กฎบัตรสหประชาชาติ
- กระบวนการบูรณาการยุโรป
- กลุ่มประเทศเบเนลักซ์
- กลุ่มสหพันธ์นิยม
- กัสเปรี, อัลชีเด เด
- การเจรจาเมสซีนา
- การประชุมที่เมืองเมสซีนา
- การยกพลขึ้นบกที่นอร์มองดี
- โกล, ชาร์ล เดอ
- ขบวนการต่อต้านนาซี
- ขบวนการยุโรป
- คณะกรรมาธิการยุโรป
- คณะกรรมาธิการสปาก
- คณะมนตรีแห่งประชาคมยุโรป
- ชูมอง, โรแบร์
- เชอร์ชิลล์, เซอร์วินสตัน
- เชอร์ชิลล์, วินสตัน
- ซีลันด์, ปอล ฟาน
- เดรสส์, วิลเลม
- ตลาดร่วมยุโรป
- นักยุโรปนิยม
- นักแอตแลนติกนิยม
- บลูม, เลอง
- บันทึกความจำเบเนลักซ์
- ปฏิญญาเมสซีนา
- ประชาคมการเมืองยุโรปหรืออีพีซี
- ประชาคมพลังงานปรมาณูยุโรปหรือยูราตอม
- แผนชูมอง
- แผนเบเยิน
- แผนมาร์แชลล์
- พรรคแรงงาน
- พรรคแรงงานสังคมนิยมเบลเยียม
- มอนเน, ชอง
- มาเลอเว, มาร์เกอริต
- เยอรมนีตะวันตก
- รัฐสภายุโรป
- รายงานสปาก
- วันดี-เดย์
- วิกฤตการณ์ที่นั่งว่าง
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สนธิสัญญาปารีส
- สนธิสัญญาโรม
- สนธิสัญญาวอชิงตัน
- สนธิสัญญาว่าด้วยการจัดตั้งประชาคมพลังงานปรมาณูยุโรป
- สนธิสัญญาว่าด้วยการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจยุโรป
- สปาก, ปอล-อองรี ชาร์ล
- สภาแห่งยุโรป
- สวิตเซอร์แลนด์
- สหประชาชาติ
- สหภาพยุโรป
- สหภาพยุโรปตะวันตก
- สหภาพศุลกากร
- สหภาพศุลกากรของกลุ่มประเทศเบเนลักซ์
- สหรัฐแห่งยุโรป
- อาเดเนาร์, คอนราด
- อุยสมันส์, กามิลล์
- ฮัลชไตน์, วัลเทอร์
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1899-1972
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๔๒-๒๕๑๕
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
วิมลวรรณ ภัทโรดม
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-